กล้องยาสูบ (มูยา)
กล้องยาสูบ ในภาษาเหนือเรียกว่า มูยา เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้สูบยาเส้น
ทำขึ้นจากการนำดินกดลายลงบนแม่พิมพ์ประกบ และนำไปเผาในอุณหภูมิค่อนข้างสูง
ซึ่งจะทิ้งเส้นรอยต่อระหว่างพิมพ์ไว้ (Mould Line) โดยลวดลายที่มักปรากฏบนกล้องยาสูบ (มูยา)
ตัวอย่างเช่น ลายกลีบบัว ลายพันธุ์พฤกษา ลายหงส์ ลายแถบเรียบ ลายเรขาคณิต หรือไม่ได้ตกแต่งลายใด ๆ
สำหรับกล้องยาสูบ (มูยา) ที่มีในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ส่วนใหญ่ตัวเบ้าเป็นแบบลายกลีบบัว ทั้งแบบกลีบบัวใหญ่ กลีบบัวเล็กซ้อนกัน
โดยมีตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ มีชิ้นหนึ่งที่ได้จากถ้ำที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีการเคลือบผิวด้วยซึ่งพบได้น้อย
กล้องยาสูบ (มูยา) เป็นหนึ่งในของที่มักพบเจอจากการขุดค้นขุดแต่งกระจัดกระจายตามแหล่งโบราณคดีในภาคเหนือจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เมืองเชียงแสน
มีข้อสังเกตที่พบคือมักเจอกล้องยาสูบ (มูยา) ในแหล่งโบราณสถานเนื่องในศาสนา อาจเป็นไปได้ว่า กล้องยาสูบ (มูยา) อาจจะมีใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ อีก นอกเหนือจากการสูบยาเส้นหรือไม่
เนื่องจากกล้องยาสูบมักทำเป็นรูปดอกบัวที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา
ในปัจจุบันชุมชนชาวลัวะและชาวกะเหรี่ยงยังคงนิยมสูบยาเส้นด้วยกล้องยาสูบ (มูยา) อยู่ นอกจากนี้ในธรรมเนียมจีบสาวของชาวลัวะก็มีการใช้บุหรี่ ก้านสูบ กล้องยาสูบ และใบยาสูบ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่จะมอบให้ฝ่ายหญิงอีกด้วย
ซึ่งหากฝ่ายหญิงยอมรับของฝาก ก็แสดงว่ามีใจให้ฝ่ายชายเหมือนกัน