บุหรี่กลีบบัว
พระโอสถมวนหรือบุหรี่สำหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ดอกบัว ถือเป็นไม้ที่มีประโยชน์และคุณค่าตั้งแต่รากถึงดอก เพราะสามารถนำมาทำอาหาร ขนม ทำเป็นน้ำชา บูชาพระ
หรือแม้กระทั่งสกัดเป็นยาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ และบำรุงร่างกายได้ ส่วนกลีบบัวนอกจากความสวยงามแล้วในสมัยโบราณยังเคยมีการนำมาทำเป็นยาสูบโดยใช้เกสรบัวหลวงตากแห้ง รวมถึงนำดอกไม้และสมุนไพรอื่นๆ มาเป็นส่วนประกอบ
ส่วนประกอบของบุหรี่คือยาเส้น ได้มาจากการคัดเลือกใบยาสูบ ที่มีความแก่ ระดับปานกลาง มี 3 ระดับ คือ
1. ยาฉุน คือ ใบยาสูบ ที่แก่จัด นับจาก ยอดใบ ลงมา 9-10 ใบ มีรสชาติฉุนมาก ขื่นมากเวลาสูบ
2. ยากลาง คือใบยาที่ นับจากยอดลงมา 4 ใบ มีความเข้มของยา ปานกลาง
3. ยาจืด คือ ใบยาที่อ่อน นับจากยอด 2 ใบมีความอ่อนมาก ในระดับความขื่น
ส่วนใหญ่บุหรี่กลีบบัวจะเลือกยากลางลงมาเป็นส่วนผสม แต่ครั้งโบราณแหล่งยาเส้นที่ดีที่สุดของไทย อยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ หรือเลย
โดยพืชที่นำมาใช้ทำใบยาสูบได้แก่
1. ดอกปีบ ตากแห้งทั้งดอกมีสรรพคุณรักษา โรคทางเดินหายใจ
2. พิมเสนเกล็ดทอง ( ปัจจุบันไม่มีผลิตแล้ว )
3. เกสรบัวหลวงตากแห้ง
4. ใบกระวานแห้ง หรือ เมล็ด คั่วร้อน
5. อบเชย บางสูตรอาจใส่ ชะเอม เพื่อความชุ่มคอ แต่เมื่อมีการเผาไหม้ เมื่อมีการจุดยาเส้นแล้วสิ่งที่จะทำให้ชุ่มคอ คือ พิมเสนเพราะเป็นสารระเหย สิ่งเหล่านี้คือตัวหลักในยามวน ส่วนบางสูตรอาจจะซอยผิวส้มซ่า หรือใส่กานพลูลงไป
การมวนใบยาจะต้องมีใบตองอ่อนที่นาบกับหินอ่อนร้อนๆ จนแห้งมามวนเป็นใบยาสูบ แล้วนำกลีบดอกบัวหลวง ที่บานเต็มที่ใกล้โรยมานาบเป็นแผ่นรองนอกความยาวราวๆ 4.5 นิ้ว
โดยประมาณ ติดด้วยยางมะตูมขนาดราวๆ ลำเทียนฝั้นปลายนิ้วก้อยนางก็จะได้ใบยากลีบบัวสวยงามออกมา
แต่ปัจจุบันภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ไม่มีการสืบสาน ทำให้ถูกกลืนกลบไปจนหมดสิ้น